ทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นสำหรับกีตาร์ว่าด้วย Scale และ Mode

 

Scale และ Mode

    Scale

            ทฤษฎีพื้นฐานที่จำเป็นมากในขั้นแรกนี้คือเรื่องของการไล่เสียงหรือบันไดเสียงหรือ scale นั่นเอง โดยการนำตัวโน๊ตต่าง ๆ มาไล่เรียงกันไป และสเกลพื้นฐานที่เราควรรู้จักคือ

        1. Diatonic Scale ซึ่งเป็นการเรียงโน๊ตจากตัวหนึ่งตามชื่อไปจนครบ 8 ตัวซึ่งก็คือตัวเดียวกับตัวที่ 1 นั่นเองแต่สูงกว่า 1 octave หรือเรียกว่าคู่ 8 ซึ่งเป็นสเกลมาตรฐานซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสเกลเมเจอร์ และไมเนอร์ เป็นต้น ซึ่งจะมีความห่างของโน๊ตไม่สม่ำเสมอ เช่นบางคู่ห่างกันครึ่งเสียง บางคู่ห่างกัน 1 เสียง เป็นต้น ลองดูตัวอย่าง ของ C เมเจอร์สเกลและ A ไมเนอร์สเกลนะครับ

cmaj.gif (2985 bytes)

aeolian.gif (1485 bytes)

        2. Whole Tone Scale เป็นสเกลหรือบันไดเสียงที่มีการไล่เสียงโดยให้โน๊ตแต่ละตัวมีความห่างกัน 1 เสียงเต็ม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการนำเครื่องหมายชาร์ป และแฟล็ทมาใช้ในการบังคับให้โน๊ตมีความห่าง 1 เสียงเต็ม ถ้าเทียบบนคอกีตาร์คือคุณไล่สเกลโดยกดนิ้วข้ามช่องเว้นช่องไปเรื่อย ๆ (เนื่องจากครึ่งเสียง=1 ช่องเฟร็ต และ 2 ช่องเฟร็ต=1เสียงเต็ม) ลองดู C โฮลโทนสเกล นะครับ

wholesc.gif (1213 bytes)

        3. Cromatic Scale คล้ายกับ whole tone scale แต่ช่วงห่างของเสียงของโน๊ตแต่ละตัวจะเป็นครึ่งเสียงแทน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องหมายชาร์ปและแฟล็ทในการควบคุมโน๊ตเช่นกัน หรือคือการไล่สเกลบนคอกีตาร์โดยการกดไล่ในทุก ๆ ช่องเฟร็ต ( 1 ช่องเฟร็ต=ครึ่งเสียง) ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างของ C โครมาติคสเกล

chromscl.gif (1379 bytes)

            Mode

            ผมจะอธิบายแบบง่าย ๆ เลยนะครับจะได้ไม่สับสน "โหมด" ในทางดนตรีก็คือการเรียงลำดับของโน๊ตในสเกลไดอะโทนิคใหม่ หรือพูดอีกทีคือ สเกลเดิมแต่เปลี่ยนโน๊ตที่ขึ้นต้นใหม่เช่นนำโน๊ตตัวที่ 2 ของสเกลมาเป็นตัวขึ้นต้นจากนั้นก็ไล่ต่อไปเป็น 3, 4, 5, 6, 7, 1และจบที่ 2 (ครบ 8 ตัวหรือ 1 octave) นี่คือ โหมดที่ 2 ต่อไปนำโน๊ตตัวที่ 3 มาขึ้นต้น แล้วไล่ใหม่เช่นเดิมเป็น ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 3 และตามด้วย 4, 5, 6, 7, 1, 2 และจบที่ 3 (ครบ 1 octave) ดังนั้นเราจะพบว่าเราสามารถสร้างโหมดได้ 7 โหมด ต่อไปเรามาดูชื่อของแต่ละโหมดดู ผมจะใช้ C เมเจอร์สเกลเป็นตัวอธิบายนะครับเพราะเป็นสเกลพื้นฐานที่ง่ายที่สุดและไม่มีเครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ท (ศึกษารายละเอียดเรื่องสเกลเมเจอร์ได้ในเรื่อง major scale  และ mode

ลักษณะของ Mode ต่าง ๆ
รายละเอียดของ Mode ต่าง ๆ

ionion.gif (2419 bytes)

โหมดที่ 1 เรียกว่า "ไอโอเนียน" ก็คือเมเจอร์สเกลนั่นเอง คือ เริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวแรกของสเกล การใช้ก็จะเหมือนกับเมเจอร์สเกล

dorian.gif (2390 bytes)

โหมดที่ 2 เรียกว่า "โดเรียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 2 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ D ในสเกล C เมเจอร์

phrygian.gif (2412 bytes)

โหมดที่ 3 เรียกว่า "ฟริเจียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 3 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ E ในสเกล C เมเจอร์

lydian.gif (2398 bytes)

โหมดที่ 4 เรียกว่า "ลิเดียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 4 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ F ในสเกล C เมเจอร์

mixolydian.gif (2445 bytes)

โหมดที่ 5 เรียกว่า "มิกโซลิเดียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 5 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ G ในสเกล C เมเจอร์

aeolian.gif (2390 bytes)

โหมดที่ 6 เรียกว่า "เอโอเลียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 6 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ A ในสเกล C เมเจอร์

locrian.gif (2397 bytes)

โหมดที่ 7 เรียกว่า "โลเครียน" ได้จากการเริ่มและจบลงด้วยโน๊ตตัวที่ 6 ของสเกลเมเจอร์ ก็คือ B ในสเกล C เมเจอร์

            ตอนนี้คุณคงจะรู้จักกับ Mode มากขึ้นแล้วนะครับ แล้วต่อไปคุณจะเข้าใจมันมากขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของ Mode และ Scale เอาล่ะครับต่อไปเราไปดูรายละเอียดในเรื่องของเมเจอร์สเกลและสเกลอื่น ๆ รวมทั้งโหมดของสเกลต่าง ๆ เหล่านั้นกันเลย

 

        4. Major Scale และ Mode

            Major Scale เป็นสเกลพื้นฐานที่สำคัญและเป็นแม่แบบของสเกลอื่น ๆ อีกหลายชนิดเช่น ไมเนอร์ เพนตาโทนิค เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สร้างมาจากสเกลเมเจอร์

            สเกลเมเจอร์เกิดจากการเลียนการออกเสียงตามธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจะเห็นว่าการไล่เสียงในสเกลเมเจอร์จะเป็นธรรมชาติมากในความรู้สึกเวลาเราออกเสียง มีลักษณะเสียงที่ชัดเจน มั่นคง แต่มีความสดใส เบิกบานแฝงอยู่ จึงถือว่าเป็นสเกลพื้นฐานของดนตรี   ต่อมาเรามารู้จักโครงสร้างของสเกลเมเจอร์กันเลยนะครับ

            ผมจะใช้ C เมเจอร์สเกลในการอธิบายนะครับ โดยการไล่เป็น Diatonic scale คือเริ่มที่ C และจบที่ C ในอีก octave หนึ่งการไล่เสียงของ C ลองมาดูโครงสร้างของ C เมเจอร์สเกลดู

 cmaj1.gif (3764 bytes)

cmaj2.gif (4060 bytes)

ดังนั้นจะสรุปง่าย ๆ ได้ดังตารางนี้

ลำดับขั้นของโน๊ตในสเกล ชื่อของแต่ละลำดับขั้น ความห่างของเสียง ขั้นคู่เสียง(Interval)
1st Tonic - ขั้นคู่ 1 (enharmonic)
2nd Supertonic 1 เสียง ขั้นคู่ 2
3rd Mediant 1 เสียง ขั้นคู่ 3
4th Subdominant 1/2 เสียง ขั้นคู่ 4
5th Dominant 1 เสียง ขั้นคู่ 5
6th Submediant 1 เสียง ขั้นคู่ 6
7th Leading Note 1 เสียง ขั้นคู่ 7
8th Tonic 1/2 เสียง ขั้นคู่ 8 (octave)

          ซึ่งข้อควรสังเกตที่สำคัญที่สุดคือะยะห่างระหว่างเสียงของโน๊ตคู่ระหว่างตัวที่ 3 กับ 4 และคู่ระหว่างตัวที่ 7 กับ 8 มีค่าเป็นครึ่งเสียง ในขณะที่คู่อื่น ๆ จะเต็มเสียงทั้งหมด และนี่คือโครงสร้างหลักของสเกลเมเจอร์ คราวนี้ถ้าเป็นสเกลอื่น ๆ บ้างล่ะ เราลองมาดู สเกล D เมเจอร์ดูบ้าง ซึ่งโน๊ตราก(root) หรือ Tonic จะต้องเป็น D แล้วจะเป็นอย่างไรเราลองมาจัดสเกลดูโดยเลียนแบบ C เมเจอร์ดูนะครับ จะได้ว่า

ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8
โน๊ต D E F G A B C D
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1/2 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2   เสียง 1 เสียง

            แต่จากหลักของเมเจอร์สเกลคือระยะห่างของเสียงระหว่างโน๊ตตัวที่ 3 กับ 4 และ 7 กับ 8 ต้องมีค่าเป็น 1/2 เสียง ในขณะที่คู่อื่น ๆ มีระยะห่างเป็น 1 เสียง แต่จากตารางข้างบนจะเห็นว่าระยะห่างครึ่งเสียงไปอยู่ระหว่างโน๊ตคู่ที่ 2 กับ 3 และ 6 กับ 7 ซึ่งไม่ตรงกับข้อกำหนดของสเกลเมเจอร์

            คราวนี้เราจะทำยังไงให้โน๊ตดังกล่าวเรียงกันตามหลักของสเกลเมเจอร์ ซึ่งเราจะต้องบังคับให้โน๊ตตัวที่ 3 กับ 4 และ 7 กับ 8 มีระยะห่าง 1/2 เสียง คุณลองย้อนไปถึงเรื่องของ Accidental คือเครื่องหมายชาร์ป, แฟล็ท และ เนเจอรัล ซึ่งสามารถลดหรือเพิ่มเสียงให้สูงขึ้หรือต่ำลงได้

            เอาล่ะครับคราวนี้เรามาดูว่าเราจะทำยังไงดีให้ได้สเกล D เมเจอร์ที่ถูกต้องโดยอาศัยเครื่องหมาย ชาร์ปและแฟล็ท

                1. ลองใส่เครื่องหมายชาร์ป;# ที่โน๊ตตัวที่ 3 คือ F เราจะได้ F# และมีผลให้โน๊ตตัวที่ 2 (E) และตัวที่ 3 (F#) ห่างกัน 1 เสียงเต็ม และโน๊ตตัวที่ 3 (F#) และ 4 (G) ห่างกัน 1/2 เสียง ซึ่งเป็นไปตามกฎของของสเกลเมเจอร์

                2. ต่อไปลองใส่เครื่องหมายชาร์ป;# ที่โน๊ตตัวที่ 7 คือ C เราจะได้ C# และมีผลให้โน๊ตตัวที่ 6 (B) และตัวที่ 7 (C#) ห่างกัน 1 เสียงเต็ม และโน๊ตตัวที่ 7 (C#) และ 8 (D) ห่างกัน 1/2 เสียง ซึ่งเป็นไปตามกฎของของสเกลเมเจอร์

                3. ตรวจสอบระยะห่างโน๊ตแต่ละตัวนั้นเป็นไปตามกฎของของสเกลเมเจอร์แล้วดังนั้นเราจะได้ D เมเจอร์สเกลคือ

ลำดับที่ 1 2 3* 4 5 6 7* 8
โน๊ต D E F# G A B C# D
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2   เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1   เสียง 1/2 เสียง

            สรุปว่าเราสามารถสร้าง D เมเจอร์สเกลได้โดยการเรียงโน๊ตเริ่มจาก D เป็นตัวแรกและจบที่ D โดยที่มีการบังคับตัวโน๊ตด้วยเครื่องหมาย # 2 ตัวคือโน๊ตตัวที่ 3 (F#) และตัวที่ 7 (C#) จึงทำให้เป็นไปตามฎของของสเกลเมเจอร์ และการบังคับนี้เป็นการบังคับถาวร ดังนั้นในการเขียนสเกลบนบรรทัด 5 เส้นจึงเขียนเครื่องหมาย # บนเส้นที่ 5 บังคับให้โน๊ตบนเส้นที่ 5 ซึ่งมีเสียง F กลายเป็น F# ทั้งหมด เช่นเดียวกับการกำหนด # ที่ช่องที่ 3 ของบรรทัด 5 เส้น ซึ่งมีเสียง C  ให้กลายเป็น C# ทั้งหมด ดังนั้นเราจะได้ D เมเจอร์สเกลที่สมบูรณ์ดังนี้

dmaj.gif (4168 bytes)

            ต่อไปลองมาดู F เมเจอร์สเกลดูบ้างนะครับ ด้วยวิธีเดียวกับการสร้างสเกล D เมเจอร์ เรามาเรียงโน๊ตในสเกลก่อนได้ว่า

ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8
โน๊ต F G A B C D E F
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2 เสียง 1 เสียง 1  เสียง 1/2 เสียง

            แต่จากหลักของเมเจอร์สเกลคือระยะห่างของเสียงระหว่างโน๊ตตัวที่ 3 กับ 4 และ 7 กับ 8 ต้องมีค่าเป็น 1/2 เสียง ในขณะที่คู่อื่น ๆ มีระยะห่างเป็น 1 เสียง แต่จากตารางข้างบนจะเห็นว่าระยะห่างครึ่งเสียงไปอยู่ระหว่างโน๊ตคู่ที่ 4 กับ 5 และ 7 กับ 8 ซึ่งคู่แรกไม่ตรงกับข้อกำหนดของสเกลเมเจอร์ แต่คู่หลังใช้ได้แล้ว

            ต่อไปเรามาดูที่โน๊ตตัวที่ 4 (B) ถ้าเราลดมันลงมา 1/2 เสียงได้จะทำให้มันห่างจากโน๊ตตัวที่ 3 (A) 1/2 เสียงและห่างจากโน๊ตตัวที่ 5 (C) เท่ากับ 1 เสียงพอดี ดังนั้นเราจึงเลือกให้ติดแฟล็ทที่โน๊ตตัวที่ 4 หรือ B จากนั้นเราลองเขียนใหม่ได้

ลำดับที่ 1 2 3 4* 5 6 7 8
โน๊ต F G A Bb C D E F
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1  เสียง 1/2 เสียง

            ลองตรวจสอบระยะห่างของโน๊ตแต่ละตัว ซึ่งก็ตรงตามกำหนดของเมเจอร์สเกลแล้ว ดังนั้นเราจะพบว่าในการไล่สเกล F เมเจอร์จะต้องติดแฟล็ทที่โน๊ต B เสมอ จากนั้นเราลองมาเขียนบนบรรทัด 5 เส้นได้ว่า

fmaj.gif (4102 bytes)

            ด้วยหลักการเดียวกันนี้คุณสามารถสร้างสเกลอื่น ๆ ได้ทั้งทางชาร์ป (#) และทางแฟล็ท (b) แต่ผมจะไม่แสดงให้ดูทั้งหมดนะครับ คงจะสรุปให้ดูก็พอเพราะหลักการเดียวกันหมด สรุปเรื่องของการตั้งสเกลหรือบันไดเสียงนอกเหนือจาก C เมเจอร์สเกลซึ่งไม่ต้องมีการบังคับด้วยชาร์ปหรือแฟล็ทจะแบ่งเป็น 2 พวกคือ

            1. การตั้งสเกลทางชาร์ป ; # ที่นิยมใช้กันจะมี 7 สเกลดังนี้

จำนวนชาร์ป ; # ชื่อสเกล Key Signature โน๊ตที่ติดชาร์ป
1 ชาร์ป G เมเจอร์สเกล maj_g.gif (1105 bytes) F
2 ชาร์ป D เมเจอร์สเกล maj_d.gif (1131 bytes) F, C
3 ชาร์ป A เมเจอร์สเกล maj_a.gif (1210 bytes) F, C, G
4 ชาร์ป E เมเจอร์สเกล maj_e.gif (1179 bytes) F, C, G, D
5 ชาร์ป B เมเจอร์สเกล maj_b.gif (1211 bytes) F, C, G, D, A
6 ชาร์ป F# เมเจอร์สเกล maj_fs.gif (1232 bytes) F, C, G, D, A, E
7 ชาร์ป C# เมเจอร์สเกล maj_cs.gif (1279 bytes) F, C, G, D, A, E, B

            2. การตั้งสเกลทางแฟล็ท ; b ที่นิยมใช้กันจะมี 6 สเกลดังนี้

จำนวนแฟล็ท ; b ชื่อสเกล Key Signature โน๊ตที่ติดแฟล็ท
1 แฟล็ท F เมเจอร์สเกล maj_f.gif (1094 bytes) B
2 แฟล็ท Bb เมเจอร์สเกล maj_bf.gif (1137 bytes) B, E
3 แฟล็ท Eb เมเจอร์สเกล maj_ef.gif (1120 bytes) B, E, A
4 แฟล็ท Ab เมเจอร์สเกล maj_af.gif (1171 bytes) B, E, A, D
5 แฟล็ท Db เมเจอร์สเกล maj_df.gif (1189 bytes) B, E, A, D, G
6 แฟล็ท Gb เมเจอร์สเกล maj_gf.gif (1197 bytes) B, E, A, D, G, C
7 แฟล็ท Cb เมเจอร์สเกล maj_cf.gif (1231 bytes) B, E, A, D, G, C, F

ข้อสังเกต : การตั้งสเกลเมเจอร์ มีทั้งหมด 12 key

            1. C เมเจอร์สเกล เป็นสเกลมาตรฐานซึ่งไม่ต้องใช้ # หรือ b กำหนดใน Key Signature เป็นสเกลที่กำหนดมาเพื่อเป็นมาตรฐานในการไล่เสียง

            2. Key C# ตั้งสเกลทาง # และ Db ตั้งสเกลทาง b แต่เป็น key ที่เป็นเสียงเดียวกัน

            3. Key D เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง # เท่านั้น

            4. Key Eb ตั้งสเกลทาง b เท่านั้น ส่วน Key D# ตั้งสเกลทาง # ไม่ได้

            5. Key E เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง # เท่านั้น

            6. Key F เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง b เท่านั้น

            7. Key F# และ Gb ตั้งสเกลทาง # หรือ b ก็ได้ แต่เป็นเสียงเดียวกัน

            8. Key G เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง # เท่านั้น

            9. Key Ab ตั้งสเกลทาง b เท่านั้น ส่วน Key G# ตั้งสเกลทาง # ไม่ได้

            10. Key A เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง # เท่านั้น

            11. Key Bb ตั้งสเกลทาง b เท่านั้น ส่วน Key A# ตั้งสเกลทาง # ไม่ได้

            12. Key B เมเจอร์สเกล ใช้สเกลทาง # เท่านั้น

            ต่อไปผมจะได้กล่าวถึง Mode ต่าง ๆ ในสเกลเมเจอร์ จากในหัวข้อเรื่อง Mode คุณได้รู้ถึง Mode ต่าง ๆ ของสเกล C เมเจอร์แล้ว ซึ่งใช้โน๊ตชุดเดียวกันทั้งหมดแต่จัดเรียงต่างกัน ต่อไปเรามาดูที่ D dorian mode หรือ mode ที่ 2 ของสเกล C เมเจอร์ ลองมาเทียบกับ D เมเจอร์สเกลดู

สำหรับ D dorian mode จะมีการไล่สเกลดังนี้

ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8
โน๊ต D E F G A B C D
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1/2 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2   เสียง 1 เสียง

และสำหรับ D major จะมีการไล่สเกลดังนี้

ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8
โน๊ต D E F# G A B C# D
ระยะห่างของเสียง 1 เสียง 1 เสียง 1/2   เสียง 1 เสียง 1 เสียง 1   เสียง 1/2 เสียง

        เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างสเกลและโหมดแล้ว จะเห็นว่าเพื่อที่จะแปลงจากสเกล D major ไปเป็น D dorian mode นั้นคุณจะต้องลดเสียงของโน๊ตตัวที่ 3 (F#) และโน๊ตตัวที่ 7 (C#) ของ D major สเกลลง 1/2 เสียง ทำให้โน๊ตตัวที่ 3 เป็น F   และตัวที่ 7 เป็น C ซึ่งจะตรงกับ D dorian mode ดังนั้นเราจะเห็นว่าสามารถแปลงจาก major สเกลเป็น dorian mode โดยการติดแฟล็ทที่โน๊ตตัวที่ 3 และ 7 ของเมเจอร์สเกลนั่นเองจึงสรุปเป็นสูตรได้ว่า

dorian mode : 1     2    b3    4    5     6    b7    8     เมื่อเทียบกับเมเจอร์สเกล เช่น A dorian mode จะประกอบด้วย

โน๊ตลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8
A mojor scale A B C# D E F# G# A
สูตรแปลง 1 2 b3 4 5 6 b7 8
A dorian mode A B C D E F# G A

        และด้วยหลักการเดียวกันนี้คุณจะสามารถหาโหมดอื่น ๆ ของสเกลได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถสรุปสูตรของโหมดแต่ละโหมดได้ดังนี้

Mode ชื่อ Mode สูตรแปลงจาก Major สเกล
Mode 1 Ionian (major scale) 1     2    3    4    5     6    7    8
Mode 2 Dorian 1     2    b3    4    5     6    b7    8
Mode 3 Phrygian 1     b2    b3    4    5     b6    b7    8
Mode 4 Lydian 1     2    3    #4    5     6    7    8
Mode 5 Mixolydian 1     2    3    4    5     6    b7    8
Mode 6 Aeolian (natural minor) 1     2    b3    4    5     b6    b7    8
Mode 7 Locrian 1     b2    b3    4    b5     b6    b7    8

            ต่อไปเรามาดู mode ต่าง ๆ ของ C นะครับโดยอาศัยสูตรแปลงจากตารางข้างบนนี้

Mode ต่าง ๆ ของ C Notation & Tablature
C Ionian Mode (หรือ C Major Scale) c-ionian.gif (2136 bytes)
C Dorian Mode (หรือ Bb เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 2) c-dorian.gif (2085 bytes)
C Phrygian Mode (หรือ Ab เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 3) c-phrygian.gif (2467 bytes)
C Lydian Mode (หรือ G เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 4) c-lydian.gif (2332 bytes)
C Mixolydian Mode (หรือ F เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 5) c-mixolydian.gif (2343 bytes)
C Aeolian Mode (หรือ Eb เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 6) c-aeolian.gif (2419 bytes)
C Locrian Mode (หรือ Db เมเจอร์ขึ้นด้วยโน๊ตตัวที่ 7) c-locrian.gif (2489 bytes)

            ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่อง major scale และ mode ต่าง ๆ ของ major scale ซึ่งคงทำให้เพื่อน ๆ รู้จักกับมันมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วในเรื่องของ mode นั้นอาจจะไกลตัวไปนิดนึงสำหรับในการเล่นกีตาร์แบบเพื่อสนุกสนาน ไม่ได้เล่นอาชีพหรือแต่งเพลง อย่างไรก็ตามก็ไม่เสียหายที่จะรู้เอาไว้บ้างเผื่อในอนาคตเราอาจจะต้องการศึกษาสูงขึ้นหรือ อยากลองแต่งเพลงเองดูก็อาจจะได้นำเจ้าวัตถุดิบต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ก็ได้ ซึ่ง mode แต่ละ mode จะให้สำเนียงที่มีเอกลักษณ์ต่าง ๆ กันไปแล้วแต่คุณจะนำมาใช้

กลับไปหน้าหลัก                     ไปหน้าต่อไป