ความรู้เบื้องต้นสำหรับเล่นกีตาร์

 

     ในส่วนนี้เราจะมากล่าวถึงความรู้เบื้องต้นต่าง ๆ เช่นกีตาร์ทำงานอย่างไร เวลาเล่นเขาเล่นกันยังไง สำหรับผู้ที่เริ่มเล่นใหม่ ๆ น่าจะศึกษาส่วนนี้ด้วยนะครับ จะได้เป็นพื้นฐานเพื่อไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวคุณเอง ซึ่งจะประกอบด้วย

         1. หลักการทำงานของกีตาร์

         2. หลักการเล่นกีตาร์เบื้องต้น

                  - การจัดท่าทางการเล่น

                  - การใช้งานมือซ้าย

                  - การใช้งานมือขวา

         3. รู้จักคอร์ดกีตาร

                  - การเรียกชื่อคอร์ด

                  - คอร์ดทาบ

         4. สไตล์การเล่นกีตาร์แบบต่าง ๆ

      

     1.ที่มาหรือหลักการของเสียงกีตาร์

            พวกเราคงจะเคยเล่นดีดหนังยางกันมาบ้างนะครับ เพื่อน ๆ เคยสังเกตไหมครับเวลาเราดึงหนังยางให้ยืดออก แล้วถ้าเอามือไปดีดหนังยางจะสั่นและเกิดเสียง(แต่เบามาก) หรือแม้แต่เส้นด้ายหรือเชือกที่ถูกยึดปลายดึงจนตึงเมื่อถูกดีดก็จะสามารถเกิดเสียงได้เช่นกัน ทั้งหมดนั้นอาศัยหลักการของการเปลี่ยนแปลงพลังงานตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง คือเมื่อวัตถุเกิดการสั่นด้วยความถี่ค่าหนึ่ง ความถี่นั้นก็จะกลายเป็นคลื่นเสียงได้ ที่กล่าวมาเป็นหลักคร่าว ๆ แค่พอรู้ครับ

            สำหรับกีตาร์ก็คือการนำสายลวดซึ่งมีขนาดแตกต่างกันมาขึงยึดหัวท้ายไว้ ด้วยความตึงต่าง ๆ กัน ซึ่งความตึง, ขนาดที่ต่างกัน รวมถึงความสั้น-ยาวของสายกีต้าร์นั่นเองจะมีผลต่อระดับเสียงที่เกิดขึ้นได้แก่

            - สายที่ตึงกว่าจะให้เสียงที่มีระดับสูงกว่าสายที่หย่อนกว่า

            - สายที่มีขนาดใหญ่กว่าจะให้เสียงที่มีระดับต่ำหรือทุ้มกว่าสายที่มีขนาดเล็กกว่า

            - สายที่สั้นกว่าจะมีระดับเสียงที่สูงกว่าสายที่ยาวกว่า

            ทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นหลักเบื้องต้นในการทำงานของกีตาร์นั่นเอง ดังนั้นกีตาร์มีสาย 6 ขนาด จะให้ระดับเสียงต่างกัน 6 เสียง และมีเฟร็ตกีตาร์ตั้งแต่ประมาณ 20-24 อัน ซึ่งเป็นการจำกัดความสั้นยาวของสายกีตาร์ (เมื่อกดที่เฟร็ตสายจะถูกจำกัดความยาวเหลือจากเฟร็ตที่กด ไปถึง สะพานสาย เช่นเมื่อคุณกดช่อง 12 ของสายใดก็ได้ก็คือคุณได้ทำให้สายนั้นเหลือความยาวเพียงครึ่งเดียวเนื่องจากระยะระหว่างนัทจนถึงเฟร็ต 12 และระยะจาก เฟร็ต 12 ถึง สะพานสายนั้นมีระยะเท่ากัน จากผลดังกล่าวเมื่อคุณกดช่อง 12จะทำให้ได้เสียงกีตาร์สูงขึ้น 1 เท่า ของสายที่ไม่ได้กดช่อง 12 หรือทางดนตรีเรียกว่า 1 octave) ก็จะได้ความแตกต่างของเสียงในแต่ละเส้นอีก 20 - 24 เสียง ดังนั้นบนคอกีตาร์จะมีเสียงทั้งหมด 120 - 144 เสียง ไม่รวมเสียง ฮาร์โมนิคหรือเทคนิคอื่น ๆ ซึ่งก็เพียงพอที่จะใหเคุณสร้างสรรค์ดนตรีได้ไม่มีสิ้นสุด

            สำหรับความตึงหย่อนนั้นอาจเห็นเป็นรูปธรรมได้เช่นการดันสาย การตั้งสายเปิดแบบต่าง ๆ รวมถึงการเล่นคันโยก ล้วนแต่อาศัยความตึงหรือหย่อนของสายกีตาร์เพื่อสร้างเสียงระดับต่าง ๆ

str-vb.gif (6854 bytes)

            **** สรุป หลักการของกีตาร์คือการสั่นของสายที่ทำให้เกิดเสียง และความแตกต่างของเสียงอันเนื่องมาจากขนาด ความสั้นยาว และความตึงของสายนั่นเอง

     2. หลักการเล่นกีตาร์เบื้องต้น

          2.1 การจัดทางทางการเล่นกีตาร์แบบต่าง ๆ

                คงจะไม่มีข้อกำหนดตายตัวอะไรในเรื่องของการจัดท่าทางการเล่นกีตารว่าต้องเล่นท่านั้นท่านี้ ซึ่งคุณอาจจะเห็นมาแล้วทั้งนั่ง ยืน วิ่ง กระโดด จนกระทั่งนอนเล่น (ท่าประหลาด ๆ มักพบกับดนตรีร็อคซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ถือว่าประหลาดแต่ว่ามันส์ต่างหาก) ดังนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ ความเหมาะสมและอารมณ์ต่างหาก แต่ผมจะแบ่งให้ทราบเพียงคร่าว ๆ เพื่อประดับความรู้เท่านั้นส่วนจะชอบแบบไหนแล้วแต่ถนัดครับ

            1. การนั่งเล่น ส่วนใหญ่จะเป็นกีตาร์คลาสสิก ฟลาเมนโก้ แจ๊ส หรือ ดนตรีประเภทอาคูสติกที่มีรายละเอียดในการเล่นมากจึงไม่สะดวกในการยืนเล่นโดยเฉพาะการเล่นกีตาร์คลาสสิกหรือฟลาเมนโก้จะมีท่าเฉพาะที่เป็นรูปแบบในการเล่นต่างหาก ซึ่งอาจจะวางกีตาร์บนหน้าขาขวาหรือซ้ายเช่นรูปแรกเป็นแบบคลาสสิก รูปที่ 2 และ 3 เป็นการนั่งเล่นกีตาร์โฟล์คทั่ว ๆ ไป รูปที่ 4เป็นแบบฟลาเมนโก้ เป็นต้น

 

            2. การยืนเล่น บนเวทีแสดงทั่ว ๆ การยืนเล่นก็เป็นที่นิยมโดยเฉพาะเพลงประเภท pop rock หรือเพลง folk country เป็นต้น เนื่องจากมีอิสระในการเล่นมากกว่าดังรูปข้างล่างนี้

          2.2 การใช้งานมือซ้าย

lhand.gif (4017 bytes)

                ในที่นี้จะหมายถึงผู้ที่ถนัดขวานะครับถ้าถนัดซ้ายก็จะตรงกันข้าม สำหรับหน้าที่หลักของมือซ้ายก็คือการจับคอร์ด การให้ระดับเสียงของโน๊ตดนตรี(ด้วยการกดนิ้วไปแต่ละเฟร็ต) ซึ่งเราจะใช้นิ้วทั้ง 5 เพื่อช่วยในการเล่นกีตาร์ เช่นการจับคอร์ด ลี๊ดเป็นต้น ...ถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า   เอ...ใช้นิ้วโป้งด้วยหรือ ใช้ยังไงล่ะ ...ก็ขอตอบว่าใช้ครับในบางกรณี โดยเฉพาะเพลงในแบบ ฟิงเกอร์ สไตล์(สไตล์นิ้วหรือเกานั่นแหล่ะครับ) หรือการจับคอร์ดบาร์(bar chord) หรือคอร์ดทาบ นิ้วโป้งมีประโยชน์มาก ซึ่งผมจะกล่าวรายละเอียดในขั้นต่อไป นอกจากใช้จับคอร์ด ใช้ลี๊ดแล้ว ยังรวมถึงการเล่นเทคนิคต่าง ๆ เช่นการดันสาย สไลด์ hammer on pull off หรือทำเสียงบอด(mute) เป็นต้น

                การดูแลรักษามือซ้ายนั้นไม่ควรจะไว้เล็บให้ยาวเกินนิ้วออกมาเพราะจะเป็นอุปสรรคกับการกดนิ้วบนคอกีตาร์แน่นอน และยังจะทำให้เจ็บนิ้วอีกด้วย และพยายามอย่าไปกังวลกับหนังที่ปลายนิ้วที่มันจะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคุณเล่นกีตาร์บ่อย ๆ เดี่ยวมันก็ลอกไปเองครับ...

                                                           

          2.3 การใช้งานมือขวาrhand.gif (5246 bytes)

                     สำหรับมือขวาในการเล่นกีตาร์จะมีหน้าที่ทำให้เกิดเสียงไม่ว่าด้วยการดีดด้วยนิ้วหรือการเกา การดีดด้วยปิคล้วนแต่ควบคุมด้วยมือขวาทั้งนั้น โดยหน้าที่ของแต่ละนิ้วนั้นสรุปคร่าว ๆ ได้แก่ ถ้าจับปิคดีดจะจับด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้ง แต่ถ้าคุณเล่นเกาแล้ว นิ้วโป้งจะมีหน้าที่ควบคุมเสียงเบส(หมายถึง 3 เส้นบน)เป็นส่วนมาก และนิ้วชี้ กลาง และนิ้วนาง จะควบคุม 3 สาย ล่างเป็นหลัก ส่วนนิ้วก้อยนั้นถึงแม้ไม่มีส่วนในการดีด แต่บางคนก็มักใช้นิ้วก้อยยันกับตัวกีตาร์เวลาเกา นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการเล่นกีตาร์ลี๊ดเช่นการใช้บังคับคันโยก การปรับปุ่ม tone หรือ volume เวลาลี๊ดกีตาร์ไฟฟ้า(เทคนิคดังกล่าวจะพูดในภายหลังนะครับ) นอกจากส่วนของนิ้วมือแล้ว สันมือก็ใช้ในการทำเสียงบอด(mute) ได้เช่นกันซึ่งจะได้กล่าวในเรื่องของการใช้เทคนิคมือขวาต่อไป

                การดูแลโดยทั่วไปสำหรับมือขวานะครับคือไม่ควรไว้เล็บยาวจนเกินไปโดยเฉพาะ นิ้วชี้ ,กลาง และนิ้วนางเพราะจะทำให้ดีดสายกีตาร์หรือแม้แต่จับปิคได้ไม่สะดวก แต่อาจไว้เล็บพอประมาณเพื่อใช้เกากีตาร์

                สำหรับผู้ที่ถนัดซ้ายนั้นการเล่นก็จะกลับกับคนถนัดขวาคือ มือซ้ายจะใช้ดีด แต่มือขวาจะมาจับคอร์ดแทน ซึ่งกีตาร์สำหรับคนถนัดซ้ายนั้นก็มีขายนะครับ แต่ถ้ามันหายากนักผมว่าก็ใช้กีตาร์ของแบบถนัดขวา(แต่พยายามอย่าเลือกแบบคอเว้า หรือมีปิคการ์ดด้านล่างนะครับ) แล้วก็ใส่สายใหม่โดยกลับสายจากสายบนสุด ไปใส่ล่างสุดแทนก็ได้ แต่ก็มีนะครับนักกีตาร์มีซ้ายที่ใช้กีตาร์แบบเล่นมือขวามากลับพลิกแล้วเล่นเลยไม่ต้องเปลี่ยนสงเปลี่ยนสายให้เสียเวลา ดังนั้นสาย 1 จะมาอยู่บน สาย 6 จะไปอยู่ล่าง เช่น นักกีตาร์โฟล์คหญิงที่ชื่อ Elizabeth Cotten แต่ผมก็ไม่รู้นะครับว่าเค้าเล่นยังไงเคยฟังแต่เพลงเค้าเก่งจริง ๆ ครับและก็ยังมีอีกเป็นนักกีตาร์บลูส์แต่ผมลืมชื่อไปแล้ว ดังนั้นคนที่ถนัดซ้ายไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรผมว่าเท่ซะอีก และนักกีตาร์มือซ้ายที่โด่งดังเช่น jimi hendrix สุดยอดคนหนึ่งของวงการกีตาร์และ kurt cobain แห่ง nirvana ผู้ล่วงลับ เป็นต้น

     3. รู้จักคอร์ดเบื้องต้ คอร์ด คำนี้ทุกคนรู้จักดีอยู่แล้วแต่คุณเข้าใจมันมากแค่ไหน คอร์ดคืออะไร หมายถึงอะไรเป็นต้น บางคนรู้จักเพียงแค่คอร์ดก็คือกดสายกีตาร์เส้นต่าง ๆ ที่ช่องต่าง ๆ ตามรูปบอกแค่นั้น เอาล่ะครับเราจะมารู้จักคำว่า "คอร์ด" กันมากขึ้น

        คอร์ด คือกลุ่มของตัวโน๊ตตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป ซึ่งถ้าเราจะถามว่ามีคอร์ดกีตาร์ทั้งหมดกี่คอร์ดในโลกนี้ คงจะไม่มีใครตอบได้เนื่องจากเราสามารถสร้างคอร์ดได้มากมายเหลือเกินแล้วแต่ผู้ประพันธ์แต่ละคน แต่เราก็สามารถจำแนกคอร์ดให้เป็นประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญและพบบ่อย ๆ ได้ เช่น คอร์ดเมเจอร์(major), คอร์ดไมเนอร์(minor) และคอร์ดเซเว่น(7) เป็นต้น คราวนี้เราจะมารู้จักการเรียกชื่อคอร์ดแต่ละประเภท

คอร์ด

การเรียกชื่อ(สากล)

การเรียกชื่อ(ชาวบ้าน)

% mojor เรียกแต่ชื่อคอร์ด (เช่นคอร์ดซีเมเจอร์ เรียกคอร์ดซี)
%m minor ไมเนอร์
%7 seventh เซเว่น (เจ็ด)
%m7 minor seventh ไมเนอร์ เซเว่น (หรือไมเนอร์ เจ็ด)
%6 sixth ซิก (หก)
%m6 minor sixth ไมเนอร์ ซิก (หรือไมเนอร์ หก)
%dim diminished ดิม
%+ augmented ออกเมนเต็ด (บวก)
%7sus4 seventh suspension four เซเว่น ซัส โฟ
%sus suspension ซัส
%7+5 seventh augmented fifth เซเว่น ออกเมนเต็ด ไฟว์
%7-5 seventh flat five เซเว่น แฟล็ท ไฟว์
%7-9 seventh flat nine เซเว่น แฟล็ท ไนน์
%maj7 mojor seventh เมเจอร์ เซเว่น
%m7-5 minor seventh flat five ไมเอนร์ เซเว่น แฟล็ท ไฟว์
%9 ninth ไนน์ (เก้า)
%m9 minor ninth ไมเนอร์ ไนน์ (ไมเนอร์ เก้า)
%9+5 ninth augmented fifth ไนน์ อ๊อกเมนเต็ด ฟิฟท์
%9-5 ninth flat five ไนน์ แฟล็ท ไฟว์
%maj9 major ninth เมเจอร์ ไนน์
%11 eleventh อีเลฟเว่น (สิบเอ็ด)
%11+ eleventh augmented อีเลฟเว่น อ๊อกเมนเต็ด (สิบเอ็ด บวก)
%13 thirteenth เธอทีน (สิบสาม)
%13b9 thirteenth flat ninth เธอทีน แฟล็ท ไนน์

%

7

seventh sixth เซเว่น ซิก

6

%

9

ninth sixth ไนน์ ซิก

6

%+7 augmented seventh อ๊อกเมนเต็ด เซเว่น (บวก เจ็ด)
%dim7 diminished seventh ดิม เซเว่น (ดิม เจ็ด)
%m+7 minor augmented seventh ไมเนอร์ อ็อกเมนเต็ด เซเว่น
%13sus4 thirteenth suspension four เธอทีน ซัส โฟร์ (สิบสาม ซัส โฟ)
%m (add 9) minor add ninth ไมเนอร์ แอ๊ด ไนน์
%(add 9) add ninth แอ๊ด ไนน์
%9sus ninth suspension ไนน์ ซัส

%

4 fourth ninth โฟร์ ไนน์
9
%+11 augmented eleventh อ็อกเมนเต็ด สิบเอ็ด
%7+9 seventh augmented ninth เซเว่น อ็อกเมนเต็ด ไนน ์
%+4 augmented fourth อ็อกเมนเต็ด โฟร์ (บวก สี่)

               เครื่องหมาย % หมายถึงสัญญลักษณ์ต่าง คือ C, D, E, F, G, A และ B ซึ่งก็คือชื่อของโน็ตต่าง ๆ นั่นเอง เวลาเรียกก็เรียกชื่อโน็ตตามด้วยชื่อคอร์ด เช่น %m7 แทนด้วย Am7 อ่านว่า เอ ไมเนอร์ เซเว่น หรือ เอ ไมเนอร์ เจ็ด ซึ่งตัวเลขนี้บางทีจะอ่านเป็นภาษาไทยก็ได้ แต่ผมแนะนำว่าควรอ่านให้เป็นสากลจะดีกว่า จะได้คุ้นเคย

                   สำหรับตอนนี้เรารู้จักคอร์ดแค่นี้ก่อนนะครับ ซึ่งโครงสร้างและรายละเอียดของคอร์ดผมจะกล่าวในส่วนต่อไป ตอนนี้เรามาดูในเรื่องของการจับคอร์ดและการวางนิ้วกันมั่งนะครับ ไม่มีกฎตายตัวที่บอกว่าต้องวางนิ้วแบบนั้นแบบนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือการวางนิ้วให้ตรงตำแหน่งของโน๊ต และไม่ทำให้เกิดเสียงบอด สิ่งที่ผมอยากแนะนำสำหรับการฝึกจับคอร์ดก็คือ

                   การจับคอร์ดกีตาร์ ใช้มือที่จะจับคอร์ด กำหลวม ๆ ที่คอกีตาร์ในท่าที่ถนัด ใช้นิ้วโป้งเป็นนิ้วประคอง สำหรับบางคน(โดยเฉพาะคนที่เล่นกีตาร์คลาสสิก) อาจจะจับคอกีตาร์โดยใช้นิ้วโป้งยันกับคอกีตาร์(เช่นในรูป)แทนที่จะกำรอบคอ ให้นิ้วทั้งสี่โก่งและตั้งฉากกับฟิงเกอร์บอร์ดมากที่สุด (อาจจะเข้าใจยากนิดนึงลองฝึกดู) เพื่อไม่ให้นิ้วไปโดนสายอื่นทำให้เสียงบอด

l-hand.gif (5474 bytes)l-hand1.gif (5255 bytes)l-hand2.gif (4809 bytes)pick.gif (3857 bytes)

                    ส่วนที่กดสายกีตาร์คือส่วนปลายนิ้วทั้งสี่ และกดลงบนสายที่ระหว่างเฟร็ตหรือกลางช่อง หรือค่อนไปทางเฟร็ตตัวล่าง โดยที่นิ้วโป้งจะช่วยประคอง และช่วยเพิ่มแรงกดเวลาจับคอร์ดทาบ

                    การทาบ (bar) ก็คือการใช้นิ้วใดนิ้วหนึ่ง (ส่วนมากจะเป็นนิ้วชี้) ทาบสายกีตาร์ตั้งแต่สองสายขึ้นไป เราจะคุ้นเคยกับคำว่าคอร์ดทาบ (bar chord) เช่นคอร์ด F Bb เป็นต้น ซึ่งคอร์ดทาบนี้ค่อนข้างเป็นสิ่งน่ากลัวในความคิดของมือใหม่ เนื่องจากมักจะบอด จับยาก เมื่อยและเจ็บนิ้วด้วย แต่ไม่ต้องกลัวครับลองใช้นิ้วโป้งของคุณช่วยกดที่หลังคอกีตาร์ตรงกลางคอจะทำให้คุณมีแรงกดมากขึ้นครับ หรืออีกวิธีคือการใช้นิ้วอื่น(ที่ว่าง ไม่ได้กดเส้นใด ๆ ) มาช่วยกดทับอีกชั้นหนึ่งก็ช่วยได้มากครับ

 

     4. สไตล์รูปแบบ์ต่าง ๆ ของการเล่นกีตาร์ ต่อไปผมจะกล่าวถึงสไตล์การเล่นกีตาร์ในแบบต่าง ๆ เท่าที่ผมพอจะมีความรู้นะครับ สำหรับตัวผมเองแล้วผมชอบกีตาร์ในทุก ๆ สไตล์ฟังแล้วทำให้รู้จักกีตาร์ในแบบต่าง ๆ มากขึ้นโดยที่เราอาจจะรู้จักกีตาร์ในแบบต่าง ๆ เช่น แนวร็อค(รู้สึกเป็นที่สนใจในหมู่วัยรุ่นเพราะมันสะใจดี) แนวคลาสสิก , บลูส์ แจ๊ส ,โฟล์ค เป็นต้น

                    1. แนวคลาสสิก ถือเป็นแนวที่เก่าแก่ที่สุดของกีตาร์มัเล่นในหมู่ชนชั้นสูง(หมายถึงสมัยก่อน)มีรูปแบบการเล่นที่สวยงาม ท่วงทำนองไพเราะมากสามารถเล่นได้ทั้งริทึ่ม การเล่นโซโล การเล่นประสานได้ในตัวเดียว เพลงคลาสสิกจะถูกแต่งขึ้นอย่างปราณีต ดังนั้นจึงค่อนข้างจะยากสำหรับผู้ที่คิดจะหัดเอง เนื่องจากต้องสามารถอ่านและเข้าใจโน็ตดนตรีเป็นอย่างดี รวมถึงการอ่านจังหวะและสัญลักษณ์ทางดนตรีต่าง ๆ และที่สำคัญราคาในการเรียนค่อนข้างสูง ทำให้คนทั่ว ๆ ไปอาจไม่สามารถจะไปเรียนได้ (ผมก็อยู่ในกลุ่มนั้น)

                    ยังมีอีกสไตล์ที่ผมขอกล่าวรวมอยู่ในสไตล์คลาสสิก คือ สไตล์ฟลาเมนโก้เพราะค่อนข้างใกล้เคียงกันต่างกันที่สไตล์การเล่น ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมที่มีกำเนิดจากในสเปนจะมีรูปแบบการเล่นสำเนียงเฉพาะตัวเช่นการดีดแบบ rasgueado (จะอธิบายในส่วนของการเล่นเทคนิคอีกที) ซึ่งค่อนข้างโดดเด่นมากสำหรับฟลาเมนโก้สไตล์ ซึ่งสไตล์นี้มีจังหวะค่อนข้างจะสนุกสนาน และใช้ประกอบกับการเต้นรำอย่างที่เราเคยเห็นใน TV เกี่ยวกับสเปน ตัวอย่างเช่น paco de lucia เป็นต้น

                    2. แนวโฟล์ค คันทรี เกิดจากการเผยแพร่การเล่นกีตาร์ไปสู่คนผิวดำที่เป็นทาส และพัฒนารูปแบบไปเรื่อย ๆ ในหมู่ชาวบ้านสามัญชนทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นกสิกร หรือ ทำฟาร์ม และเล่นในยามพักผ่อนจากการทำงานเพลงจึงมีลักษณะที่เรียบง่ายสบาย ๆ จังหวะสนุกสนานเล่าถึงวิถีชีวิตชาวบ้านอาจจะแบ่งได้เป็น

                    - บลูกล๊าสสไตล์ เป็นดนตรีพื้นบ้านมักมีการเล่นร่วมกับ แบนโจ ไวโอลิน แมนโดลิน ใช้กีตาร์ตัวนึงเป็นริทึ่ม อีกตัวใช้โซโล จังหวะสนุกสนาน เป็นเพลงบรรเลง หรือมีคนร้องด้วย

                    - ปิ๊คกิ้งสไตล์ คือการเกาหรือเล่นกีตาร์ด้วยนิ้วนั่นเองอาจจะเล่นตัวเดียวหรือ 2 ตัวประสานกัน มีความละเอียดในการเล่นมากพอสมควรเล่นค่อนข้างยาก ต่างกับบลูกล๊าสที่มักใช้ปิคมากกว่าเช่น Simaon & Garfunkel เป็นต้น

                    - โฟล์คสไตล์ เป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีการเล่นที่อาจจะเป็นการเกากีตาร์ การใช้ปิคดีด การเล่นประสานกันตั้งแต่ 2ตัวขึ้นไป มีการร้องประสานเสียงกันส่วนมากจะกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันทั่วไป เช่น peter paul & mary

                    จริงแล้วทั้ง หมดรวมเรียกว่าเป็นสไตล์โฟล์ค ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจในความแตกต่างกันมากนักเท่าที่ผมได้รู้มานั้น ส่วนใหญ่บลูกล๊าสจะเป็นเพลงบรรเลง และฟิงเกอร์สไตล์ด้วยเช่นกัน แต่บางครั้งก็มีการร้องประกอบด้วย

 

                    3. บลูส์สไตล์ กำเนิดจากชนผิวดำที่เป็นทาสได้รับเอาเครื่องดนตรีชนิดนี้มากและพัฒนาเข้ากับดนตรีแบบของเขา ซึ่งส่วนใหญ่ในยุคแรกจะเป็นเพลงที่เศร้าเนื่องจากบรรยายถึงความเหนื่อยยากที่เป็นทาส และดนตรีบลูส์นี้เองเป็นพื้นฐานที่สำคัญของดนตรีอีกหลายประเภทเหลือเกินตั้งแต่ แจ๊ส โฟล์ค รวมไปถึงร็อคอีกด้วย สามารถแบ่งคร่าว ๆ เป็น

                    - อาคูสติกบลูส์ คือใช้กีตาร์โปร่งเล่นนั่นเองซึ่งในยุคแรกก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ จะมีการผสมผสานระหว่างการใช้ปิค และนิ้วร่วมกันในการดีด นอกจากนี้อาจมีการใช้สไลด์เล่นอีกด้วย เช่นในชุด unplug ของ eric clapton

                    - อีเล็คทริกบลูส์ เป็นยุคหลังที่มีกีตาร์ไฟฟ้าแล้ว จึงมีการนำดนตรีบลูส์มาเล่นกับกีตาร์ไฟฟ้ามีการโซโลที่ไพเราะและหนักแน่น เช่นแบบ BB. King หรือ Robert cray

                    4. แจ๊ส เป็นอีกสไตล์ที่พัฒนามาจากบลูส์ซึ่งรายละเอียดในการเล่นจะยากขึ้นไปกว่าดนตรีบลูส์ และมีทั้งแบบอาคูสติกและิเล็คทริกเช่นกัน เช่น Larry Carlton เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสไตล์อื่นที่มีลักษณะของแจ๊สอยู่ พอจะยกตัวอย่าง ได้แก่

                    - Bossanova ซึ่งที่ดังมากได้แก่ Antonio Calos Jobim กับเพลง Girl from ipanema เป็นต้น

                    - Samba หรือ สไตล์ประจำของบราซิล ซึงมีโครงสร้างคล้ายกับดนตรีแจ๊สเช่นกัน

                    5. ป๊อปสไตล์ ก็คือสไตล์ที่เล่นกับเพลงป๊อปหรือเพลงทั่ว ๆ ไป

                    6. ร็อคสไตล์ มีการพัฒนามาจากบลูส์เช่นกันมีความหนักแน่นในจังหวะและท่วงทำนอง และมีการเล่นที่น่าสนใจทั้งการโซโล ที่มีลูกเล่นเทคนิคมากมาย การปรับแต่งเสียงของกีตาร์ การใช้เอฟเฟ็คต่าง ๆ จึงเป็นที่นิยมและคลั่งไคล้ของกลุ่มวัยรุ่น อยากเก่งเหมือนนักกีตาร์ร็อคดัง ๆ ซึ่งร็อคอาจแบ่งไดเป็น

                    - บลูส์ร็อค เป็นการผสมระหว่างเพลงบลูส์กับร็อคเช่นแบบ Gary Moore หรือ Stevie ray Vaughan เป็นต้น

                    - โฟล์คร็อค มีการผสมผสานกันของเพลงโฟล์คกับร็อค เช่น Eagles เป็นต้น

                    - นีโอคลาสสิก เป็นการนำเอารูปแบบของดนตรีคลาสสิกมาผสมผสานกับดนตรีร็อค ซึ่งตอนนี้เป็นที่สนใจอย่างมาก ผู้ที่บุกเบิกทางนี้ได้แก่ Randy Rhoad ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วแต่ปัจจุบันคุณจะรู้จัก นีโอคลาสสิก กับ Yngwie Malmsteen หรือ Vinnie Moore เป็นต้น

                    - เฮฟวี่เมทัล พัฒนาไปจากดนตรีร็อคมีความหนักหน่วงขึ้นเช่น Metallica , Megadeath เป็นต้น

                    นอกจากนี้ยังมีแนว Progressive rock เช่นแบบของ Dream thearter หรือแนว Alternative ที่มี Nirvana เป็นผู้สร้างชื่อเสียงเป็นต้น หรือแนวอื่น ๆ อีกเช่น แนว Funk , reggae หรือแนว death metal เป็นต้น

                    สำหรับสไตล์ที่ผมถนัดและทำโฮมเพจนี้ขึ้นมาคือจะพยายามยามเน้นไปทางการเล่นในแบบฟิงเกอร์สไตล์ซึ่งได้นำไปเล่นกับเพลงหลากหลายแนวเพลงทั้งแบบโฟล์ค คันทรี่ บลูกราส บลูส์ แจ๊ส ซึ่งนับว่าเป็นสไตล์การเล่นกีตาร์ที่น่าสนใจมากครับสามารถนำไปประยุกต์เล่นกับเพลงได้หลากหลายแนวเพลง

                    ที่ผมได้กล่าวถึงสไตล์การเล่นแบบต่าง ๆ ในตอนนี้เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้ลองนึกดูซิว่าเราชอบในแบบไหนหรือสนใจสไตล์ไหนเป็นพิเศษ แต่แน่นอนครับไม่ว่าคุณจะสนใจสไตล์ไหนก็ตามเราก็ต้องรู้พื้นฐานของมันก่อนทั้งนั้นซึ่งเมื่อคุณรู้พื้นฐานแล้วคุณสามารถที่จะไปศึกษาหาความรู้ต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เช่นเดียวกับเมื่อคุณถีบจักรยานเป็นก็ไม่ยากนักที่จะหัดมอเตอร์ไซด์ หรือขับรถเกียร์ธรรมดาเป็น ก็ขับเกียร์ออโต้ได้ไม่ยากเย็นนักหรอกครับ

 

กลับไปหน้าแรก