การใช้โปแกรม Guitar Pro เบื้องต้น

getgpnow.gif (14875 bytes)

                โปรแกรม guitar pro เป็นอีก โปรแกรมนึงที่เป็นที่นิยม และรู้จักกันมากในวงการของกีตาร์ซอฟท์แวร์ การใช้งานไม่ยุ่งยากมากนัก ข้อดีของโปรแกรมนี้คือสามารถใช้เครื่องดนตรีได้ถึง 8 ชิ้นหรือ 8 track โดยที่ track ที่ 8 สำหรับ percussion ใน version 2.20 แต่ใน version 3.0 จะได้ถึง 256 track ซึ่งมีประโยชน์มากในการที่เรามีไฟล์เพลงที่เป็น midi แล้วจะแปลงเป็น tab โดยการ import แต่การ import ผมว่า version 2.20 จะใช้งานง่ายกว่าใน version 3.0 เพราะสามารถตั้งค่าต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า ใน version 3.0 มันทำให้สำเร็จรูปไปจึงไม่เหมาะกับการ import ไฟล์ midi บางเพลง ข้อดีอีกอย่างคือมีเทคนิคต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการทำท่อนโซโลที่มีลูกเล่นต่าง ๆ ได้ดี

                แต่ข้อเสียก็มีคือมันไม่สามารถ edit เป็นโน๊ตได้ทำได้แต่ระบบ tablature และจะบังคับให้ใน line หรือแนวเดียวกันจะมีจังหวะหรือชนิดตัวโน๊ตต่างกันไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดนึงที่ด้อยกว่าโปรแกรม Tabledit แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นข้อเสียที่ร้ายแรงอะไร โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพดีและมีประโยชน์มากตัวนึงสำหรับกีตาร์เลยครับ แต่สิ่งจำเป็นอย่างนึงคือ คุณจะมีพื้นฐานของเรื่องโน๊ตดนตรีบ้างจะทำให้คุณสามารถเข้าใจการทำงานของโปรแกรมได้ง่ายขึ้นครับ คุณสามารถไปศึกษาเรื่องของโน๊ตดนตรีได้ในส่วนของทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น

                ในการแนะนำนี้ผมจะอิงจาก guitar pro version 2.20 นะครับเนื่องจากผมใช้ตัวนี้มาตลอดและผมว่ามีความสมบูรณ์พอเพียงอยู่แล้ว ซึ่งใน version 3.0 ก็สามารถใช้ได้เหมือนกันเพียงแต่จะมีปุ่มหรือฟังชั่นลูกเล่นต่าง ๆ เพิ่มมาอีกบ้าง รวมทั้งมี menu ภาษาไทยอีกด้วย ดังนั้นถ้าคุณใช้ version 2.20 ได้คงไม่มีปัญหากับการใช้ version 3.0 ครับ เอาล่ะครับลองมาเรียนรู้กับโปรแกรมนี้กันเลยครับ

        1. หน้าจอหลักของ Guitar Pro

gp1.jpg (54168 bytes)

                ส่วนประกอบหลัก ๆ ของหน้จอก็คือส่วนบนจะเป็น menu และ toolbar ต่าง ๆ ซึ่งผมจะกล่าวรายละเอียดต่อไปนะครับ ส่วนที่สองคือหน้าต่าง tablature เป็นหน้าต่างที่แสดง tablature ที่เราทำน่ะครับ และส่วนล่างจะเป็นหน้าต่าง editing windows หรือส่วนที่เราจะใช้แก้ไข tablature นั่นเองครับ โดยการจะแก้ไขหรือใส่ตัวเลขจะต้องเลื่อนเคอเซอร์(รูปสี่เหลี่ยมสีเหลือง) ไปอยู่ในจุดที่ต้องการ ส่วนอื่น ๆ ก็จะเป็นส่วนของเครื่องมือต่าง ๆ เช่นปุ่มใส่เทคนิค ลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสีสันให้ tab และส่วนรายงานผลต่าง ๆ เช่นชื่อเพลง bar complete (บอกว่าห้องนี้มีจังหวะสมบูรณ์หรือยัง) เป็นต้น

        2. คำสั่งต่างของ Guitar Pro

                2.1 คำสั่งต่างใน Menu

                    1. File จะใช้ในการเปิด ปิด หรือสร้างไฟล์ใหม่ สั่ง print, print preview browser (หาไฟล์พร้อมแสดงรายละเอียดของไฟล์กีตาร์โปร) มีคำสั่ง save, save as คำสั่งที่สำคัญคือ import เพื่อใช้แปลงไฟล์ midi, text ให้เป็น format guitar pro และคำสั่ง export ใช้แปลงไฟล์ guitar pro ให้เป็น text หรือ midi

                    นอกจากนี้ยังมีคำสั่ง properties และ preferences เพื่อใช้ตั้งค่าต่าง ๆ ของเพลง และโปรแกรมเช่น ตั้งค่าการ print tab ตั้งค่า font หรือตั้งค่าเครื่องดนตรี ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไปครับ

                    2. Edit เป็นคำสั่งในการแก้ไขต่าง ๆ ได้แก่ cut, copy และ paste ซึ่งจะต้องเลือก bar และ track ที่ต้องการจะกรพทำการดังกล่าว นอกจากนี้เป็นคำสั่ง insert และ clear ใช้แทรกและลบห้องดนตรี แต่ที่น่าสังเกตคือไม่มีคำสั่ง undo และ redo

                    3. Track ใช้ในการเลือก track ต่าง ๆ เพื่อแก้ไข หรือ print เป็นต้น

                    4. Bar เป็นคำสั่งเกี่ยวกับห้องดนตรีคือ การเลื่อนไปห้องถัดไปข้างหน้า ย้อนไปห้องก่อนหน้า หรือไปห้องแรกสุดหรือไปห้องสุดท้ายเป็นต้น อีกส่นเป็นการควบคุมห้องได้แก่ time signature การควบคุมการเล่นซ้ำห้อง

                    5. Note เป็นคำสั่งเกี่ยวกับตัวโน๊ตได้แก่ การเลือกโน๊ตชนิดต่าง ๆ เช่นตัวกลม ตัวขาว.... และกการประจุด การทำ triplet note, dead note การใส่ตัวหยุด

                    อีกส่วนจะเป็นการใส่คอร์ด และ ข้อความให้กับ tab ส่วนต่อไปเป็นคำสั่ง เพิ่มและลบจังหวะ (inser/delete beat) และคำสั่ง copy beat/triplet at the end เป็นคำสั่ง copy โน๊ตแล้วไปใส่ไว้หลังโน๊ตตัวสุดท้ายในห้อง คำสั่งสุดท้ายเป็นการเลื่อนโน๊ตขึ้นลงในแต่ละสายกีตาร์ หรือเปลี่ยนโน๊ตไปอยู่สายอื่นแต่เป็นดน๊ตเสียงเดียวกัน (shift up/down)

                    6. Effect ส่วนนี้จะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการใส่ลูกเล่นต่าง ๆ เช่น การดันสาย การสไลด์ hammer on pull off การ tapping เป็นต้น

                    7. Assistants เป็นคำสั่งช่วยเหลือต่างๆ ได้แก่

                        Transpose ช่วยในการเปลี่ยนคีย์ของเพลง หรือ track

                        Bar Arranger ช่วยจัดการห้องดนตรีที่จังหวะไม่สมบูรณ์ เช่นจังหวะไม่ครบ มันจะจัดให้ครบเอง

                        Complete/Reduce Bars with Rests จะคล้ายกับ Bar Arranger แต่จะทำให้ห้องนั้นมีจังหวะสมบูรณ์ด้วยการเพิ่มหรือลดจังหวะด้วยตัวหยุด

                        Automatic Finger Position จะช่วยจัดการวางนิ้วอัตโนมัติให้ แต่บางทีมันก็ไม่ดีนักในบางกรณี เพราะมันจะเลือกให้เป็นสายเปิดมากที่สุด บางกรณีก็ไม่เหมาะกับเพลงก็ได้

                        Let Ring Selector เป็นคำสั่งให้เสียงกีตาร์ที่มีความยาวมากขึ้น คุณสามารถเลือกว่าจะใช้กับห้องไหน หรือใช้กับสายเส้นไหนได้จากหน้าต่างที่โชว์ขึ้นมา มีประโยชน์มากกับเพลงแบบการเกากระจายคอร์ด

                        Check Bar Duration เป็นตัวช่วยเช็คว่าห้องนี้จังหวะสมบูรณ์หรือยัง ถ้าสมบูรณ์จะแจ้งว่า Checking Complete ถ้าไม่สมบูรณ์จะแจ้งว่า Invalid bar-lenght at bar... track ...

                        Standard Notation จะแสดงให้เห็นว่าตัวเลขใน tab ที่คุณใส่ลงไปอยู่บนจุดไหนบนบรรทัด 5 เส้น โดยคุณสามารถแก้ไขตามที่ต้องการได้ในหน้าต่าง standard notation ได้เลย

                        Percussion เป็นคำสั่งในการเลือก percussion

                        Speed Trainer ใช้เพิ่มหรือลด speed เพลงเพื่อช่วยในการฝึกหัดได้

                    8. Sound เป็นส่วนควบคุมการเล่น tab ได้แก่

                        Play from the Begining เริ่มเล่นตั้งแต่ห้องแรก

                        Play from the Bar in Progress เริ่มเล่นตั้งแต่ห้องที่ต้องการ

                        Play the Bar in Progress เล่นเฉพาะห้องที่ต้องการ

                        Stop หยุดเล่น

                        Play in a Loop ทำการเล่นวน

                        Metronome เปิดเสียงเครื่องให้จังหวะ ขณะเล่น

                        Play while Entering ให้มีเสียงขณะที่ใส่ตัวเลขใน tab

                    9. Display เป็นการควบคุมการแสดงผลบนหน้าจอหลัก ได้แก่

                        Hide the Editing Windows เพื่อทำการซ่อนหน้าต่างที่ใช้ในการ edit ด้านล่าง เมื่อต้องการจะดูแต่ส่วนของ tablature

                        Show Let Ring Notes แสดงตัวโน๊ตที่ให้เล่นแบบ let ring โดยจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมครอบตัวเลขนั้น

                        Show Note Dynamics แสดงการเล่นเสียงดังเบาของโน๊ต (dynamics อยู่ในคำสั่ง effect ใช้ควบคุมเสียงดังเบาของโน๊ต) นั้นด้วยสีของตัวโน๊ต ตัวไหนที่เล่นดังมากจะสีเข้มมาก และสีจะจางลงเมื่อเล่นเสียงเบาลงไป

                        Language และ Help Language เลือกภาษาในการใช้โปรแกรมและใน help ใน version 2.20 ยังไม่มีภาษาไทย แต่ใน version 3.0 จะมีภาษาไทยด้วย แต่ผมว่าใช้ภาาาไทยอาจจะทำให้งงได้กับศัพท์ทางดนตรีบางคำ ผมจึงแนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษดีกว่าครับ

                    10. Help เป็นส่วนช่วยเหลือของโปรแกรม ข้อมูลการลงทะเบียน และข้อมูลของโปรแกรม

                2.2 tool bar ต่าง ๆ ของ guitar pro

                           1. toolbar ชุดแรกนี้จะแบ่งเป็น 7 ส่วนนะครับ

gp3.jpg (7845 bytes)

                            ส่วนแรก ได้แก่ (จากซ้าย-->ขวา) เปิดหน้าใหม่, เปิดไฟล์ที่มีอยู่แล้ว และ save ไฟล์

                            ส่วนที่สอง ได้แก่คำสั่ง propeties และ preferences

                                คำสั่ง properties

gp4.jpg (41672 bytes)

                            ส่วนนี้จะใช้ตั้งค่าตั้ง ๆ ของเพลง อันได้แก่ชื่อเพลง ผู้แต่งและ comment อื่น ๆ  การตั้ง tempo การตั้งการเล่นฝืนจังหวะ (syncopation : triplet feel)

                            ต่อมาคือส่วนของการตั้งค่าของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น โดยที่คุณสามารถเลือกเครื่องดนตรีโดยการคลิ๊ก tab ชื่อเช่นในรูปตัวอย่างเลือกชิ้นที่ 1 ชื่อ "1-Acoustic Gtr. (DGCFAD)" และใน track อื่น ๆ ไม่มีการตั้งค่าไว้คือเพลงนี้มี track เดียว ซึ่งจะมีส่วนต่าง ๆ ให้คุณตั้งค่าสำหรับเครื่องดนตรีนี้ได้แก่

                            Name of the track เป็นการตั้งชื่อ track นั่นเองในตัวอย่างเป็น  "Acoustic Gtr. (DGCFAD)" ถ้าไม่ต้องการตั้งชื่อก็ให้ว่างไว้

                            Instrument ส่วนนี้ให้คุณใช้เลือกชนิดเครื่องดนตรี เช่นกีตาร์โฟลค์ กีตาร์คลาสสิก กีตารไฟ้าแบบต่าง ๆ หรือเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ โดยเลือกจากลูกศรหรือปุ่มด้านขวา

                            Library tunings จะเป็นส่วนที่เก็บการตั้งสายเครื่องดนตรีแบบต่าง ๆ ทั้งการตั้งสายกีตาร์แบบต่าง ๆ การตั้งสายเบส, แบนโจ เป็นต้น ส่วนช่องด้านขวาใช้เลือกว่าจะให้เครื่องดนตรีใน track นี้มีกี่สาย ในกรณีนี้เป็นการตั้งสายแบบต่ำลงมาสายละ 1 เสียงเต็มจาก EADGBE เป็น DGCFAD ซึ่งไม่มีใน library tuning ดังนั้นเราต้องตังเองในส่วนของ Tuning

                            Tuning เป็นส่วนที่ใช้ตั้งสาย ถ้าเราต้องการตั้งสายเองซึ่งไม่มีอยู่ใน library ก็สามารถตั้งได้เองในส่วนนี้ ด้วยการเลือกจากปุ่มด้านขวา

                            นอกจากนี้มีคำสั่งอื่น ๆ ได้แก่

                            Fret ใช้กำหนดว่าให้เครื่องดนตรีของเรามีกี่เฟร็ต ปกติเซ็ทไว้ที่ 24 เฟร็ต

                            Capo เป็นการกำหนดว่าจะคาดคาโป้ไว้ช่องไหน ถ้าไม่ใช้คาโป้ก็ใส่ 0

                            Solo การให้เล่นเฉพาะ track นี้เท่านั้น, Mute track ไม่ให้เล่น track นี้, Do not export ไม่ให้แปลง track นี้ในขณะจะแปลงไฟล์เป็น midi file และ 12 strings simulation เป็นการเลียนแบบเสียงของกีตาร์ 12 สาย

                            Volume ใช้ควบคุมเสียงดังเบา, Pan (Panoramique) ควบคุมเสียงลำโพงซ้ายขวา (balance control), Chorus ควบคุมเสียงประสาน และ Reverb ควบคุมเสียงก้อง

                            เมื่อตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยก็กด OK

                        คำสั่ง Preferences ใช้ในการตั้งค่าต่าง ๆ ของโปรแกรม แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

                            1. General มีการตั้งค่าต่าง ๆ ได้แก่

                                Starting Music ใช้ตั้งค่าให้ตอนเปิดโปรแกมมีเสียงเพลงของโปรแกรมเอง หรือจะเลือก wave file อื่น ๆ ที่ต้องการ หรือไม่ให้มีก็ได้

                                การตั้งค่า metronome, play, export (สำหรับ midi) และ sound card สำหรับเมื่อการดันสายแล้วมีเสียงผิดเพี้ยน

                                Cord Riconition ให้แสดงชื่อเบสของคอร์ดที่ไม่ใช้ตัว root เป็นเบส

                            2. Display เป็นการตั้งค่าการแสดงผลต่าง ๆ เช่น ชนิดและขนาด font, สี, สัดส่วนต่างๆ

                            3. Printing เป็นการตั้งค่าสำหรับการพิมพ์ ได้แก่ ขอบกระดาษ ขนาดและสัดส่วนของ tab ระยะห่างโน๊ต ฯลฯ

                        ส่วนที่สาม เป็นคำสั่ง print และ print preview

                        ส่วนที่สี่ เป็นคำสั่ง cut, copy และ paste คือ ตัด, ก๊อปปี้ และแปะ(โน๊ตที่ก๊อปปี้ไว้)

                        ส่วนที่ห้า เป็นคำสั่ง Insert, Clear แทรกและลบ bar หรือห้อง

                        ส่วนที่หก เป็นการควบคุมการเล่นได้แก่ เริ่มเล่นตั้งแต่ห้องแรก, เริ่มเล่นตั้งแต่ห้องที่ต้องการ, เล่นเฉพาะห้องที่ต้องการ, หยุดเล่น, เล่นวน และเปิดเสียง Metronome ขณะเล่น

                        ส่วนที่เจ็ด ได้แก่คำสั่งปิดหน้าต่าง editing และส่วนที่ให้เลือก track ต่าง ๆ                                

                        2. toolbar ชุดที่สอง

gp2.jpg (4344 bytes)

                            ใน toolbar ต่อมานี้จะแบ่งเป็น 9 ส่วนนะครับ ได้แก่

                    ส่วนแรก ใช้ควบคุมการ edit tab คือ (ไล่จากซ้าย-->ขวา) กลับไปห้องแรกสุด, กลับไปห้องที่แล้ว, ไปที่ห้องปัจจุบัน, ไปห้องถัดไป และไปยังห้องสุดท้าย

                    ส่วนที่สอง เป็นการเลือกตัวโน๊ตชนิดต่างๆ ในการ edit tab

                    ส่วนที่สาม การประจุดตัวโน๊ต เพื่อให้มีเสียงยาวเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของตัวมันเอง

                    ส่วนที่สี่ เป็นการควบคุมโน๊ตได้แก่ การใส่ตัวหยุด, การทำเป็นโน๊ต 3 พยางค์ (triplet note) และ tied note

                    ส่วนที่ห้า ใช้เพิ่ม และลด จังหวะในห้อง และคำสั่งหลังสุดคือการ copy โน๊ตแล้วไปแปะลงที่หลังโน๊ตตัวสุดท้ายของห้อง

                    ส่วนที่หก ใช้ เลื่อนโน็ตไปยังสายกีตาร์เส้นที่อยู่สูงขึ้น (shift up : ลูกศรขึ้น) หรือเส้นที่อยู่ต่ำลงไป (shift down : ลูกศรลง) โดยที่ยังเป็นโน๊ตตัวเดียวกัน

                    ส่วนที่เจ็ด ใช้ควบคุมห้องดนตรี ได้แก่ เปลี่ยน time signature, เปิดห้องเล่นซ้ำ, ปิดห้องเล่นซ้ำ และ สร้างประทุน(เครื่องหมายทางดนตรีควบคุมการเล่น)

                    ส่วนที่แปด standard notation แสดงว่าตัวเลขใน tab นั้นจะอยู่ตำแหน่งใดบนบรรทัด 5 เส้น

                    ส่วนที่เก้า Mix Table Change Events ใช้ในการควบคุมคุณสมบัติของโน๊ตนั้นแบบเฉพาะเจาะจง คือไม่เปลี่ยนทั้งเพลงแต่เปลี่ยนเฉพาะโน๊ต คุณสมบัติที่ควบคุมได้แก้ ชนิดเครื่องดนตรี เสียงดังเบา chorus reverb เป็นต้น

                   3. tool panel ชุดที่สาม

gp5.jpg (3113 bytes)   ส่วนนี้จะเป็นคำสั่งในการเพิ่มลูกเล่น เทคนิคต่าง ๆ ให้ tab เราครับ แบ่งได้ 5 ส่วน ได้แก่

        ส่วนแรก มีคำสั่ง (จากซ้ายบน) Hammer On, สไลด์ขึ้น, ดันสาย, Pull Off, สไลด์ลง และ ดันสายแล้วคลายกลับที่เดิม

        ส่วนที่สอง มีคำสั่ง let ring (เพิ่มความยาวของเสียง), grace note (เพิ่มเสียงสั้น ๆให้ตัวโน๊ตเช่น hammer on หรือ pull off) และ ghost note (เสียงที่เกิดจากสายที่สั่นเองเนื่องจากการดีดสายที่อยู่ติดกัน ไม่ได้เกิดจากการดีดโดยตรง)

        ส่วนที่สาม มีคำสั่ง การเล่นเสียงสั่นด้วยนิ้วมือซ้าย, การเล่นเสียงสั่นคันโยก, การกดคันโยก, เล่นเสียง harmonic แท้, เล่นเสียง harmonic เทียม, เล่นค่อย ๆ ดังขึ้น (fade in), จิ้มสาย (Tapping), การตบเบส (Slap) และการเล่น Pop ของ Bass

                            ส่วนที่สี่ แทรก chord diagram, การตีสายลง, การตีสายขึ้น

                            ส่วนที่ห้า คำสั่งทำเสียงบอด (dead note), แทรกข้อความใน tab, ควบคุมความดังเบาของโน๊ต (dynamic)

    3. การใช้งานโปรแกรม Guitar Pro

               คราวนี้เราจะมาเริ่มต้นใช้ guitar pro ทำเพลงกันเลยนะครับ

                1. กด file --> new หรือกดรูปกระดาษเปล่าบน toolbar มันจะขึ้นหน้าจอ properties ขึ้นมาเพื่อให้คุณตั้งค่าต่าง ๆ ในขั้นแรก เราใช้ค่า defalt ทั้งหมด ดังนั้นเราจะไดกีตาร์ตัวเดียวคือมี track เดียว การตั้งสายแบบมาตรฐาน และเป็นกีตาร์คลาสสิก ซึ่งจะไม่มีชื่อ track

                2. หลักการใส่ตัวเลข tab คือเลือกตัวโน๊ตที่ต้องการ เลื่อนลูกศรขึ้นลง เพื่อเลือกสายที่จะใส่ตัวเลข จากนั้นกดตัวเลขที่ต้องการ แล้วจึงกด enter หรือกดลูกศรเลื่อนไปยังจุต่อไป ซึ่งโปรแกรมจะควบคุมจังหวะอัตดนมัติ เราเพียงเลื่อนลูกศรขึ้นลง เพื่อเลือกสายที่จะใส่ตัวเลข ลองดูตัวอย่างนะครับ

gp6.jpg (44624 bytes)

            ขั้นตอนการใส่ตัวเลขใน tab

                    1. โน๊ตตัวแรก เลื่อนเคอเซอร์ขึ้นไปอยู่ที่สาย 1 เลือกโน๊ตเป็นตัวดำ กดเลข 9 จากนั้นกด enter หรือกดลูกศรขวา เพื่อไปยังจังหวะต่อไป (เราต้องรู้นะครับว่าตัวดำมีค่า 1 จังหวะ ดังนั้นจะเหลืออีก 3 จังหวะในห้องนี้ เพราะ time signature เป็น 4/4)

                    2. โน๊ตตัวที่สอง เลื่อนเคอเซอร์ลงมาที่สาย 2 เลือกตัวโน๊ตเป็น ตัวเขบ็ต 1 ชั้น กด 11 กด enter หรือกดลูกศรขวา เพื่อไปยังจังหวะต่อไปซึ่งอยู่ที่สายเดิม ก็กดเลข 12 ได้เลย จากนั้น กด enter หรือกดลูกศรขวา เพื่อไปยังจังหวะต่อไป (ตัวเขบ็ต 1 ชั้นมีค่า 1/2 จังหวะ ดังนั้นที่โน๊ตตัวที่ 3 จะใช้ไปแล้ว 2 จังหวะ คือ 1+1/2+1/2=2 ดังนั้นจะเหลืออีก 2 จังหวะ)

                    3. โน๊ตตัวที่สี่ เลื่อนเคอเซอร์ลงมาที่สาย 3 ตัวโน๊ตเป็นตัวเขบ๊ต 1 ชั้นอยู่แล้ว (จากการเลือกครั้งก่อน) แต่ต้องการประจุดเพิ่มจึง กดที่คำสั่งประจุด (ดูในรูปตัวอย่าง) จากนั้นจึงกด 10 แล้วกด enter หรือกดลูกศรขวา เพื่อไปยังจังหวะต่อไป (เมื่อประจุดจะทำให้จังหวะเพิ่ม 1/2 ของตัวมันเอง ดังนั้นโน๊ตตัวที่มี่นี้จะมีจังหวะ 1/2+1/4)

                    4. โน๊ตตัวที่ห้า เลื่อนเคอเซอร์ขึ้นไปที่สาย 2 เนื่องจากโน๊ตตัวที่สี่มีการประจุดังนั้นจากเขบ็ต 1 ชั้นธรรมดาจะมีค่าเท่ากับเขบ็ต 1 ชั้น + เขบ็ต 2 ชั้น ซึ่งเพื่อที่จะเติมให้ครบ 1 จังหวะจะต้องการ เขบ็ต 2 ชั้นอีก 1 ตัว (1/2+1/4+1/4=1) ดังนั้นจังหวะนี้จะต้องเป็นตัวเขบ็ต 2 ชั้น กดคำสั่งเขบ็ต 2 ชั้น แล้วกดเลข 10 แล้วกด enter หรือกดลูกศรขวา เพื่อไปยังจังหวะต่อไป (จังหวะรวมตอนนี้ตั้งแต่โน๊ตตัวแรกจะเป็น 1+1/2+1/2+(1/2+1/4)+1/4=3 จังหวะ)

                    5. ทำตามขั้นตอนข้างบนสำหรับโน๊ตที่เหลือ ซึ่งเป็นเขบ็ต 2 ชั้น (ตอนนี้ห้องยังขาดอีก 1 จังหวะ ดังนั้นต้องใช้ เขบ็ต 2 ชั้น 4 ตัว 1/4+1/4+1/4+1/4=1) เมื่อเสร็จแล้วสังเกตช่องด้านล่างจะบอกว่า bar complete แสดงว่าเราลงจังหวะครบแล้ว และเมื่อคุณกด enter หรือกดเลื่อนลูกศรขวามันก็จะขึ้นห้องใหม่ให้อัตโนมัติครับ

                    แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงตัวอย่าง ไม่จำเป็นที่จะต้องควบคุมจังหวะโน๊ตแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะขึ้นกับเพลงแต่ละเพลงนี่ผมเพียงแสดงตัวอย่างที่ง่าย ๆ ในการนับจังหวะเท่านั้น ต่อไปเราจะเอาตัวอย่างนี้มาใส่ลูกเล่นกันบ้างนะครับ ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ

gp7.jpg (56993 bytes)

                    มาดูรายละเอียดแต่ละจุดนะครับ

                    1. จุดที่ 1 เพิ่มการเล่นเสียงสั่นด้วยนิ้วมือซ้าย วิธีทำคือเลื่อนเคอเซอร์ไปไว้ที่โน๊ตตัวดังกล่าว (ใช้ลูกศรหรือเอาเม้าส์ไปคลิ๊กที่ตัวเลข) จากนั้นไปที่ tool panel ด้านขวา กดปุ่มที่เป็นซิกแซกขนาดเล็ก (ถ้าซกแซกใหญ่เป็นการสั่นด้วยคันโยก)

                    2. จุดที่ 2 ใส่ hammer on กับโน๊ต 11 ด้วยขั้นตอนเดียวกับจุดที่ 1มีข้อสังเกตอย่างนึงคือจะใช้ hammer on ได้ต้องมีโน๊ตตัวตามหลังที่มีเสียงสูงกว่า

                    3. จุดที่ 3 ผมใส่ effect 2 อย่างคือ ใส่ลูกเล่นคันโยกด้วยขั้นตอนเดียวกับจุดที่ 1 แต่เมื่อคลิ๊กที่ปุ่มแล้วมันจะมีหน้าต่างโชว์ขึ้นมาเพื่อให้เลือกว่าจะกดคันโยกลงไปเท่าใด ในที่นี้ผมให้กดลงไป 1 เสียงเต็ม (เลข 1 ที่อยู่ข้างบน) อีกส่วนนึงคือการเพิ่มข้อความ โดยคลิ๊กที่ปุ่ม txt มันจะมีหน้าต่างขึ้นมาให้เราคีย์ข้อความลงไป ในที่นี้ผมคีย์ว่า "press tremolo bar"

                    4. จุดที่ 4 จุดนี้ผมใส่ effect dead note หรือเล่นเสียงบอด ด้วยขั้นตอนเดียวกับจุดที่ 1โดยคลิ๊กเลือกปุ่มรูป x (ในการเล่นเสียงบอดจริง ๆ ทำได้โดยใช้สันมือขวาวางแตะไว้ใกล้ ๆ สะพานสายครับ)

                    5. จุดที่ 5 จุดนี้ผมใส่ effect 2 อย่างคือ slide up และข้อความ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยขั้นตอนเดียวกับจุดที่ 1ในการใส่ slide up และด้วยขั้นตอนเดียวกับจุดที่ 3 ในการใส่ข้อความ

                    ทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักการใช้โปรแกรม guitar pro แบบพื้นฐานนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมก็ไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่านี้มากมายนัก แต่ก็คิดว่าน่าจะพอช่วยให้เพื่อน ๆ พอเข้าใจหลักการใช้งานและการทำงานขั้นพื้นฐานของโปรแกรมนี้นะครับ แต่ถ้าเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยอะไรก็สามารถหารายละเอียดใน help ของโปรแกรมได้ หรือจะเมลล์มาถามผมก็ได้ครับ ถ้ารู้ก็จะตอบให้ ถ้าไม่รู้จะลองไปหาดูให้ครับ คุณสามารถไปเยี่ยมชมโฮมเพจเพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมหรือเพลงต่าง ๆ ได้ครับที่โฮมเพจของ guitar proซึ่งเขามี tab เป็นพัน ๆ เพลงให้ดาวน์โหลดเลยครับ

 

กลับไปหน้าหลัก